ReadyPlanet.com
กทม.แจกแบบบ้าน-หนุนที่อยู่ผู้สูงอายุ

หนึ่งในแผนแม่บทหลัก ของกรุงเทพมหานคร(กทม.) คือการสนับสนุนให้คนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา ได้เริ่มโครงการตั้งแต่การจัดสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยให้กับข้าราชการและลูกจ้างที่มีรายได้น้อยตั้งเป้าที่ 1 หมื่นครอบครัว หรือกว่า 1 แสนคนไปแล้ว ในปีนี้ กทม.มีแผนจะเพิ่มความช่วยเหลือให้ได้ 1.2 หมื่นครัวเรือน และวางแผนว่าในปี 2555 จะเพิ่มความช่วยเหลือให้ได้ครบ 1.5 หมื่นครัวเรือน
กทม.ลุยแจก 100 แบบบ้านฟรี
ล่าสุด กทม.ได้ผลักดันโครงการบ้านยิ้มเพื่อประชาชน ได้ให้ประชาชนมาขอรับแบบบ้านฟรีที่มี 100 แบบ เพื่อนำไปปลูกสร้างบนที่ดินของตนเอง ที่จะช่วยประหยัดค่าแบบบ้านในเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นบาท และย่นระยะเวลาขออนุญาตให้รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลานานไม่เกิน 45 วัน ที่จะเปิดให้ผู้สนใจรับแบบบ้านได้ฟรี
ทั้งนี้แบบบ้านดังกล่าวจะมีทั้งที่เป็นแบบบ้านของสำนักโยธา กทม.เอง อีกส่วนหนึ่งจะเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และแบบบ้านของภาคเอกชนที่ร่วมโครงการ ได้แก่ บริษัท แลนดี้ โฮม และบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ราคาก่อสร้างเริ่มต้น 2.6 แสนบาท จนถึง 6.4 ล้านบาท
สำหนับประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อขอรับแบบบ้านยิ้มได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. ที่สำนักการโยธา กทม. สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย กทม. กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานเขต ทั้ง 50 แห่งทั่วกรุงเทพฯ นอกจากนี้ กทม. ยังวางแผนที่จะขยายให้ใช้ได้ครอบคลุมทั่วประเทศด้วยการเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีผ่านเว็บไซต์ของกทม.
เอกชนชี้ช่วยกระตุ้นตลาดทางอ้อม
ขณะที่ วิบูล จันทรดิลกรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เห็นว่า การที่กทม.มีโครงการแบบบ้านยิ้มเพื่อประชาชน จะมีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯให้มีความคึกคักขึ้น
“ที่ผ่านมาก็มีเอกชนบางรายที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านได้เข้าไปสนับสนุนโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยให้คนมีรายน้อยปานกลางมีที่อยู่อาศัยได้ง่าย เพราะประหยัดค่าแบบบ้าน และขออนุญาตก่อสร้างได้รวดเร็ว” วิบูลกล่าว
สำหรับภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านเองนั้นอาจจะได้ประโยชน์ในทางอ้อมจากการสนับสนุน โดยผู้สนใจอาจจะหันมาเลือกพิจารณาบริษัท รับสร้างที่มีความชำนาญและเป็นมืออาชีพ แทนที่จะไปเลือกผู้รับเหมารายย่อยทั่วไปที่ไม่มีความชำนาญ
อย่างไรก็ตาม การที่หน่วยงานภาครัฐอย่างกทม. มีพยายามออกแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกทม. พร้อมกับสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้พัฒนาจะเป็นประโยชน์ในภาวะที่ตลาดชะลอตัวจากปัญหาการเมืองรุมเร้า
ดึงบ.อสังหาฯพัฒนาบ้านผู้สูงอายุ
นอกจากการช่วยเหลือคือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเอง และผู้ประสบปัญหาหนี้สินเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยแล้ว กทม.ยังมีแนวคิดที่จะสนับสนุนผู้สูงอายุที่ต้องการสวัสดิการด้านที่พักอาศัย และมีแผนที่จะขยายบริการด้านที่อยู่อาศัยไปถึงประชาชนในวงกว้าง โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมกับกทม.
ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้กทม.มีแผนที่จะริเริ่มโครงการบ้านพักผู้สูงอายุ (Senior Citicen Zone) เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุที่ถือบัตรทอง รักษาโรคมีถึง 6 แสนคน และหากวัดจากอายุ 55 ปีขึ้นไปมีถึง 1.2 ล้านคนแล้ว ขณะที่บ้านพักสำหรับคนชราหรือบ้านบางแค ก็ไม่พอรองรับ ส่วนภาคเอกชนที่เริ่มพัฒนาในรูปแบบดังกล่าวมี 2 ราย เช่นโครงการปัยยิกา จ.ปทุมธานี โครงการบางไทรฮอสปิทอล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
การสนับสนุนให้ภาคเอกชนมารวมพัฒนาเป็นสิ่งที่ ควรจะเริ่มดำเนินการ อาจจะทำในรูปแบบของการขายหรือการเช่า ซึ่งทางกทม.อยู่ระหว่างเจรจาในเบื้องต้นกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการดังกล่าวที่อยู่ระหว่างการเจรจา
หลักเกณฑ์ในเบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้เอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เข้าร่วม พัฒนาในรูปแบบของหมู่บ้านที่เป็นโครงการแนวราบ และแนวสูง โดยภายในโครงการจะมีออกแบบอาคาร ทางเข้าออกให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ รวมถึงการให้บริการทางด้านการแพทย์และพยาบาล
ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะไปเปิดตลาดต่างประเทศให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุน เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว เช่น เดนมาร์ก สวีเดน หรือ ในญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมาพัฒนาบ้านในเมืองไทย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ ไปพร้อมๆกัน
แนะกทม.สนับสนุนด้านภาษี
ด้าน อิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า โครงการที่กทม.ริเริ่มเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรที่จะสนับสนุนให้เอกชนพัฒนา โครงการที่จับกลุ่มเฉพาะผู้สูงอายุแต่เพียงอย่างเดียว โดยควรจะสนับสนุนให้เอกชนพัฒนาโครงการที่ผู้สูงอายุสามารถอยู่รวมกับลูกหลานจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะให้แยกออกมาอยู่เพียงลำพัง และมาอาศัยกับพยาบาลหรือผู้ที่ดูแล
ทั้งนี้ควรจะส่งเสริมให้บ้านที่ก่อสร้างมีพื้นที่ที่รองรับกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านที่สะดวกกับการเข็นรถ ทางเดินที่ลาด มีราวจับทางเดิน หรืออาจจะมีลิฟต์ภายในอาคาร เป็นต้น ซึ่งอาจจะไม่ต้องสนับสนุนทางด้านภาษีในการก่อสร้างบ้านในรูปแบบดังกล่าวก็ได้ อย่างน้อยควรจะลดภาษีในการนำเข้า วัสดุอุปกรณ์ ในการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวจะต้องเสียภาษีนำเข้าในราคาสูง เช่น รถเข็น เตียงสำหรับผู้ป่วย หรืออุปกรณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่ยังมีราคาแพง
“ไม่ควรสนับสนุนให้เอกชนพัฒนาเฉพาะโครงการที่จับกลุ่มผู้สูงอายุ ควรจะสนับสนุนทางด้านภาษีที่ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุจะเป็นประโยชน์มากกว่า”อิสระกล่าว
นโยบายด้านที่อยู่อาศัยของกทม.ครั้งนี้ ถือเป็นอีกช่องทางที่เปิดให้กับผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่เป็นบริษัทรับสร้างบ้าน และบริษัทพัฒนาที่ดิน ได้เข้ามาสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ไม่มากก็น้อย
 

 

12 พฤษภาคม 2553 เวลา  โดย..โชคชัย สีนิลแท้

แหล่งข้อมูล  http://www.posttoday.com/




ข่าวสารเมืองปทุม

โครงการฉีดวัดซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ๔ สายพันธุ์
ผู้ว่าฯ ปทุมธานี นำข้าราชการและประชาชนทำบุญ ตักบาตรข้าวสาร-อาหารแห้ง ในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2560 เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นศักราชใหม่
เกิดเหตุทำร้ายร่างกายบริเวณริมเขื่อนสะพานแดงคลองหนึ่งชายถูกอาวุธแม่ไม้มวยไทยได้รับบาดเจ็บ
เปิดโครงการรวมพลคนกู้ภัยสานพลังประชารัฐอาสากู้ภัยร่วมสร้างสังคมไทยปลอดภัยยั่งยืนประจำปี 2559 ที่ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิตจังหวัดปทุมธานี
จังหวัดปทุมธานี สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เดินหน้า excellent model school



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล