
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เจาะลึกสถานการณ์น้ำท่วมปี 2555 โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังเขื่อนป่าสักฯ รวมถึงจับตาดู 2 จุดเสี่ยงใกล้ กทม.
สืบเนื่องจากสภาพฟ้า ฝน ในขณะนี้ ที่ทำให้หลายฝ่ายต่างวิตกกังวลว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่นั้น ล่าสุด วันนี้ (21 กันยายน) ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้ถือว่าไม่น่ากังวล แม้จะมีฝนตกในเขตกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่ภาคกลางค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นไปตามร่องมรสุมปกติ
แต่ขณะเดียวกัน ฝนเหล่านี้เป็นฝนที่ตกใต้เขื่อน จึงทำให้น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายจังหวัด ดังนั้นเมื่อระดับน้ำในลำน้ำลดลง ปริมาณน้ำในทุ่งก็จะไหลไปตามแม่น้ำปกติ โดยขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งที่สามารถรับน้ำได้ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้น จึงคาดว่าไม่น่าจะไหลเข้าท่วมเมืองเหมือนปีที่ผ่านมา
ดร.เสรี ยังเล่าถึงกรณีน้ำท่วมพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า เนื่องจากคันกั้นน้ำในบางพื้นที่ รองรับน้ำรับได้ไม่ถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตร ทั้งยังมีจุดเสี่ยงอยู่ที่เขตปริมณฑล แม้ปริมาณน้ำเหนือจะน้อย แต่มีการคาดการณ์ว่า ในวันที่ 24 กันยายนนี้ จะมีฝนตกหนัก ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ นอกจากนี้ ยังมีจุดเสี่ยงต่อมาอีก 2 จุดคือ ที่ อ.บางเลน จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะน้ำจะถูกผันไปยังบริเวณนี้ และที่บริเวณคลอง 13 (หนองจอก-ลาดกระบัง)
ดร.เสรี กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังมั่นใจได้ว่าการระบายน้ำในพื้นที่รอบ กทม. ไม่มีปัญหา เนื่องจากปริมาณน้ำยังไม่มาก ขณะที่รัฐบาลเองก็มีการป้องกันอย่างเต็มที่ ทั้งการสร้างคันกั้นน้ำจากงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท พร้อมกับมีการขุดลอกคูคลองไว้แล้ว และปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ปีนี้ อยู่ในระดับ 50% เท่านั้น ซึ่งสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่น้ำไหลเข้าวันละประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าปลอดภัย และไม่จำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ดร.เสรี อยากให้เฝ้าระวังน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถรับน้ำได้ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้มีน้ำอยู่ราว 500 ล้านลูกบาศก์เมตร หากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องอีก 10 วัน หรือหากตกในปริมาณ 100 มิลลิเมตร ต่อเนื่องกัน 5 วัน ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่ปริมาณน้ำจะล้นความจุ ทางเขื่อนจึงจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการปล่อยน้ำจาก 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
สำหรับผลกระทบต่อ กทม. ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่นั้น ดร.เสรี กล่าวว่า ให้จับตาดูที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา หากน้ำผ่าน อ.บางไทร ที่อัตรา 3,000 ลูกบาศก์ต่อวินาที ก็จะเสี่ยงต่อพื้นที่ กทม. หรือทำให้พื้นที่เมืองเอก จ.ปทุมธานี เตรียมอพยพ แต่ขณะนี้อยู่ในระดับ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น จึงถือว่าปลอดภัย แต่ยังต้องจับตาพายุอีก 1 - 2 ลูก ที่จะพาดผ่านประเทศไทย ว่าหลังจากนี้จะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก มติชน