

ปี 2556 ที่ผ่านมา เป็นอีกปีที่หน้าประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ เพราะเป็นการปิดฉากซาก "โฮปเวลล์" กว่า 500 ต้น สร้างค้างมาร่วม 2 ทศวรรษ
จากปฏิบัติการของ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ในการทุบซากทิ้งแบบไม่เหลือมูลค่านับหมื่นล้านบาทที่ถมไป เมื่อตอม่อเก่าอยู่คู่คนกรุงเทพฯมานาน 20 ปี กลายเป็นสิ่งกีดขวางและไม่มีราคาในแบบก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังก่อสร้าง เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมไหนก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก ซึ่ง "ร.ฟ.ท." จะใช้พื้นที่เขตทางสร้างโครงสร้างใหม่ของรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วง "บางซื่อ-รังสิต" ระยะทาง 26 กิโลเมตร มีทั้งหมด 10 สถานี และใช้เงินก่อสร้างไปกว่า 51,061 ล้านบาท
โดยการก่อสร้างแยกออกเป็น 2 สัญญา ได้ยักษ์รับเหมาระดับมหาชนของวงการมาก่อสร้าง ใน "สัญญา 1" งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง รวมถึงสถานีจตุจักร มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทยฯและ บมจ.ยูนิคฯ) ก่อสร้าง วงเงินกว่า 29,826 ล้านบาท และ "สัญญา 2" งานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต และสถานีรายทาง 8 สถานี ได้แก่ สถานีวัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง หลักหก และรังสิต มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง ภายใต้วงเงินกว่า 21,235 ล้านบาท
ผลงานโดยรวมของโครงการ ณ สิ้นปี 2556 ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 4% ยังล่าช้าจากแผนงานอยู่ประมาณ 5-6 เดือน โดยสัญญา 1 คืบหน้าประมาณ 3.8% ช้าจากแผนงานอยู่ 4% และสัญญา 2 คืบหน้าประมาณ 3% ล่าช้าจากแผนงานอยู่ประมาณ 10%
"งานก่อสร้างล่าช้าจากแผนอยู่หลายเดือน เพราะรอแบบก่อสร้างใหม่ที่จะต้องปรับให้รับกับรถไฟความเร็วสูง ที่ยังไม่สรุปเพราะต้องรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งติดเรื่องการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวาง ทำให้ผู้รับเหมาทำผลงานก่อสร้างไม่ได้มาก" นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
นายประภัสร์กล่าวว่า ขณะนี้การทุบโครงสร้างโฮปเวลล์เดิม ทางผู้รับเหมาทั้ง 2 สัญญายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ติดปัญหาเรื่องของสภาพพื้นที่ ที่ต้องทำงานท่ามกลางขณะที่รถไฟปัจจุบันเปิดให้บริการ รวมทั้งการทุบเสาตอม่อทิ้งต้องใช้เทคนิคในการตัด ทำให้การทำงานของผู้รับเหมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงต้องเลื่อนไปจากเดิมจะต้องให้เสร็จตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าไม่เกินเมษายนปี 2557 นี้ คงจะแล้วเสร็จทั้งโครงการ
หลังจากนั้นจะเริ่มเร่งงานในส่วนของโครงสร้าง จะหารือกับผู้รับเหมาจะใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างเข้ามาช่วยเพื่อให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จและทันเปิดใช้ตามกำหนดเดือนเมษายนปี 2560
แต่จะมีเหตุอื่นทำให้ต้องขยับออกไปอีกหรือไม่ ยังต้องดูและลุ้นกันต่อไป
แหล่งข่าว ประชาชาติธุรกิจ